พาเที่ยว area 52
กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้องที่รักทุกท่าน วันนี้ เราจะไปรู้จัก area 52 กัน หลังจากที่โมลเดอร์และสกัลลี่พาทุกท่านไปไขปริศนา area 51 กันมาแล้ว
Area 51 เป็นพื้นที่การบินทางทหารของสหรัฐอเมริกา ในมลรัฐเนวาดา ไม่ไกลจากลาสเวกัส ใช้เพื่อฝึกซ้อมบิน มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายกล่าวว่าพื้นที่นี้ทางการสหรัฐใช้เก็บและศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างดาว แต่ข้อมูลจากทางการสหรัฐแจ้งว่ามีเพื่อทดสอบสมรรถนะของเครื่องบินรบรุ่นใหม่ ๆ จึงเป็นความลับทางทหาร
ในศตวรรษที่ 18 และ 19 โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องมาจากยุคเรอเนซองต์และยุคแห่งการตื่นรู้ทางวิทยาการ เข้าสู่ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์และปฏิวัติอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางความคิดความรู้ ทำให้ยุโรปเปลี่ยน geopolitics ใหม่ เกิดอาณาจักรใหม่ ๆ ที่มาท้าทายจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี หรือเยอรมัน
เยอรมันนั้นหลังจาก เสนาบดี ออตโต ฟอน บิสมาร์ค ได้รวบรวมแคว้นการปกครองต่าง ๆ รวมเป็นเยอรมนี ได้สำเร็จในปี 1870 และพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและวิทยาศาสตร์
โดยทางการเยอรมันได้ก่อตั้งสถาบันไกเซอร์ วิลเฮล์ม เพื่อรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างองค์ความรู้และสร้างชาติเยอรมัน รวบรวมนักวิยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วฟ้าเมืองยุโรป ให้มาสร้างชาติ เรียกว่าให้ทุน ให้โอกาส อาจจะแถมบ้านพร้อมที่ดินด้วยก็ได้
ปัจจุบันสถาบันวิทยาศาสตร์ไกเซอร์วิลเฮล์มยังคงอยู่นะครับ แต่เปลี่ยนชื่อไปเป็นสถาบันพลังค์ ตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ มักซ์ พลังค์ ผู้บุกเบิกวิชาควอนตัมฟิสิกส์ ที่เคยเป็นหัวหน้าสถาบันวิจัยนี้ในช่วงก่อนสงครามโลก ในช่วงปี 1930
ก่อนหน้านั้นในปี 1915 สถาบันไกเซอร์วิลเฮล์มได้รับนักวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยาคนหนึ่งเข้ามาในสถาบัน เขาชื่อ โคบิเนียน บรอดมันน์
บรอดมันน์เกิดที่ดินแดนทางใต้สุดของเยอรมัน สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรปรัสเซีย ก่อนการรวมชาติเยอรมันเป็นหนึ่งเดียว เขาเข้าเรียนจบที่มหาวิทยาลัยไลป์ซิกในปี 1898 ก่อนหน้านี้เข้าเรียนวิชาแพทย์ในหลายมหาวิทยาลัยทั้งมิวนิก และไร์บวร์ก รวมถึงมหาวิทยาลัยโลซานน์ที่สวิตเซอร์แลนด์
การเรียนแพทย์ในสมัยนั้นมีหลายระดับขั้นทั้งระดับ diploma ไปจนถึง doctoral และก็ไม่ได้มีสอนครบทุกรายวิชานะครับ ใครอยากเรียนสาขาไหนก็ต้องไปมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์สาขานั้น ๆ ทำวิจัยอยู่ และไม่ใช่ว่าสอบเข้า จ่ายตังค์ เข้าเรียนได้ สมัยก่อนต้องไปเป็นผู้ช่วยวิจัย ช่วยทำงาน เพื่อศึกษาหาความรู้ไปด้วย
ด้วยยุคสมัยนั้น อาจารย์มีน้อยมากและกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนยุโรป แม้สถานการณ์ทางสังคมและการทหารจะคุกรุ่นมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เหตุการณ์ความร่วมมือทางวิชาการกลับไปได้ด้วยดี
บรอดมันน์เข้าสู่ระบบการศึกษาวิจัยหลังจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Jena หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมัน ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1558
โดยมีเพื่อนร่วมงานในสาขาประสาทวิทยาและจิตวิทยาที่สำคัญสองคนคือ
ลุดวิก บินสแวงเกอร์ (ผู้ลูก) ตัวแม่ของวิชาจิตเวชในยุโรปเวลานั้น ถ้าใครรู้จักโรคบินสแวงเกอร์ โรคหลอดเลือดสมองจุดเล็กตีบหลายจุด จนทำให้เกิดความทรงจำที่แย่ลง โรคนี้ค้นพบโดย ออตโต บินสแวงเกอร์ (ผู้พ่อ)
ส่วนอีกคนอาจจะเคยได้อ่านเรื่องเล่าในเพจไปแล้วคือ อลอยส อัลซ์ไฮม์เมอร์ ผู้ค้นพบโรคอัลไซเมอร์อันโด่งดังนั่นเอง
เรียกว่าล้อมรอบด้วยผู้ร่วมงานระดับเซียนเหยียบเมฆทั้งสิ้น โดยบรอดมันน์ สนใจการทำงานของสมองว่าส่วนใดรับผิดชอบหน้าที่ใด มีรูปแบบของความรับผิดชอบแบบใด โดยการศึกษาสมองมนุษยนำมาชำแหละ ย้อมสี ดูลักษณะเซลล์และเส้นใยการเชื่อมโยง รวมทั้งการผ่าศพศึกษาในผู้ป่วยที่เสียชีวิต และมีโรคสมองที่ชัดเจน ว่ารอยโรคอยู่ตำแหน่งใด ก็น่าจะบอกความบกพร่องและตำแหน่งรับผิดชอบของสมองส่วนนั้น ๆ ได้
ยกตัวอย่างก่อน เช่นถ้าเรามีหลอดเลือดแดง middle cerebral artery เกิดตีบตันในบริเวณเนื้อสมองที่อยู่หน้าต่อรอยแยกใหญ่ central sulcus เนื้อสมองส่วนนี้เรียกว่า precentral gyrus หรือ motor cortex ทำหน้าที่เริ่มต้นการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อ เมื่อส่วนนี้เสียหายจึงทำให้ขยับร่างกายตามที่คิดไม่ได้ หรืออัมพาตซีกตรงข้าม ที่เรารู้จักกัน
แต่การศึกษาสมัยนั้นไม่ง่าย ไม่มี MRI ต้องใช้การติดตาม การสังเกต การบันทึกและการผ่าศพพิสูจน์ แต่บรอดมันน์ก็ทำงานนี้มาเกือบ 10 ปี และต้องย้ายมาที่สถาบันที่ใหญ่กว่าคือ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน จึงได้ข้อมูลการทำงานครบ
มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน คือ มหาวิทยาลัยสูงสุดในยุคนั้น มีศิษย์เก่าชื่อดังเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, รูดอล์ฟ เวียคอฟ บิดาแห่งพยาธิวิทยา , มักซ์ พลังค์ หรือแม้กระทั่ง ตัวผู้รวมชาติเยอรมัน ออตโต วอน บิสมาร์ก
บรอดมันน์แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์ลินได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ Localisation in the Cerebral Cortex ในปี 1909 ที่ถือว่าเป็นหนังสือโด่งดังมาก เพราะสามารถระบุการทำงานของผิวสมอง cerebral cortex ว่าส่วนไหนทำหน้าที่อะไร โดยมีแผนผังพื้นที่แต่ละบริเวณที่ชัดเจน เรียกแผนผังเหล่านี้ว่า Brodmann's area เพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันเป็นภาษาเดียวกันว่าเรียกพื้นที่ใด จุดไหน และจุดนั้นทำหน้าที่อะไร เช่น
Area 4 ก็คือ premotor cortex ที่เรายกตัวอย่างกันไป
Area 17 คือ primary visual area รับผิดชอบการแปลภาพที่เห็น
Area 22 คือ primary auditory cortex แปลสัญญาณไฟฟ้าจากหูเป็นเสียงที่เรารู้จัก
Area 44 คือ พื้นที่รับผิดชอบเรื่องภาษาที่จะสื่อสารออกไป คนที่อัมพาตจุดนี้จะฟังออกแต่พูดออกมาไม่ได้
ผลงานนี้สร้างชื่อมากมายให้กับบรอดมันน์ ได้รับเชิญไปศึกษาและบรรยายในสาขาประสาทสรีรวิทยาและประสาทกายวิภาคศาสตร์ในอีกหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งหลายในเยอรมัน และเข้าสู่สถาบันไกเซอร์วิลเฮล์มในปี 1915 นั่นเอง
เสียดายที่เก้าปีหลังจากนั้น บรอดมันน์เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยังไม่ทันเห็นความวุ่นวายของสถาบันหลังต้องกีดกันนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวออกไป
บรอดมันน์ได้เขียนและกำหนดบริเวณของสมองออกมาทั้งสิ้น 52 พื้นที่ โดยพื้นที่สุดท้ายเรียกว่า parainsular area ควบคุมความตั้งใจ สมาธิ รวมทั้งการทำงานอันเป็นความสามารถอันโดดเด่นของบุคคลนั้น ๆ
ส่วนแอเรีย 51 คือพื้นที่ส่วนรอบ olfactory area ที่รับผิดชอบการแยกแยะกลิ่นครับ หาใช่เกี่ยวมนุษย์ต่างดาวไม่
และสุดท้ายก็ขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องที่ไว้วางใจในบริการนำเที่ยวของเรา (คือทนอ่านจนจบ 55) แล้วโอกาสหน้าค่อยมาเที่ยวกันใหม่เด้อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น