08 พฤศจิกายน 2567

การตัดสินใจรักษาในระยะวิกฤตสุดท้าย

 “พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับ ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” ภาระอันหนักอึ้งของญาติผู้เป็นบุคลากรทางการแพทย์

ท่านที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็คงมีหน้าที่ “รับปรึกษา” หรือ “รับฟังปัญหา” ของเครือญาติที่เจ็บป่วย
ท่านที่มีญาติทำอาชีพทางการแพทย์ ก็คงปรารถนาปรึกษาญาติของท่าน เพื่อคลายข้อสงสัยหรือเพื่อสร้างความมั่นใจ ในโรคและการเจ็บป่วย
แต่หากเป็นการปรึกษาหรือการตัดสินใจเพื่อยุติการช่วยชีวิต หรือ ไม่ประสงค์จะกู้ชีพ อันนี้จะเพิ่มความตึงเครียดหลายเท่า
ไม่นานมานี้ ผมได้รับปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ท่านหนึ่ง ที่ถือว่ามีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในวิชาชีพระดับสูง ในเรื่องจะให้การรักษาเพื่อประคับประคองบิดา ในขณะที่ได้ปรึกษากัน ผมสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดอย่างมากในบุคลากรท่านนั้น ทั้งที่ในอาชีพปรกติ ท่านต้องปรึกษาผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิตเสมอ
ด้วยความที่ทุกคนคาดหวัง ทำให้การจะตัดสินใจใดลงไป ต้องคิดมาก กังวลว่าหากตัดสินใจพลาด ความผิดนั้นจะตกแก่ตัวเอง (ทั้งที่คุยปรึกษาทุกคนแล้ว) ประกอบกับผู้ป่วยที่ต้องตัดสินใจคือบิดาของตัวเอง ยิ่งเพิ่มความเครียดไปเป็นเท่าทวี บางครั้งในจังหวะที่คุยกัน ไม่สามารถใช้พื้นฐานความรู้ทางการแพทย์เพื่อนำการสนทนาได้ หากต้องใช้อารมณ์และความเป็นมนุษย์มาช่วยในการรับปรึกษา
หรือแม้กระทั่งตัวผมเอง ในขณะตัดสินใจเพื่อไม่กู้ชีวิตผู้มีพระคุณ ก็ทำด้วยความรู้สึกทางมนุษยธรรม นำเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ตัวเองรู้ดีว่าสามารถ “ยื้อ” ได้นานต่อไป แต่ความรู้สึกทางมนุษยธรรม และคิดถึงเหตุการณ์ในอนาคต ประกอบกับคุยตัดสินใจในหมู่ญาติ ก็เลือกหนทางประคับประคอง ยังคิดว่าถ้าผู้ป่วยที่เป็นญาติ อยู่ในมือตัวเองคงยากกว่านี้หลายเท่า
ขอแนะนำแบบนี้ครับ
1.ในภาวะวิกฤต ควรให้หมอ พยาบาล ที่ไมใช่ตัวเองดูแล ตัวเองออกมาทำหน้าที่ญาติ
2.การประคับประคอง ให้คุยกับทีมแพทย์ที่ดูแล โดยเราคงต้องรับหน้าที่สื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริง และประคับประคองผู้อื่นมากกว่าผู้ป่วย
3.อย่ารับความกดดันมาคนเดียว ให้ปรึกษาพ่อแม่พี่น้อง ร่วมกันคิด เพราะในภาวะแบบนั้น บุคลากรทางการแพทย์จะพลาดได้ง่าย
4.ญาติพี่น้องต้องไม่โดดเดี่ยวบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นญาติ ช่วยกันประคับประคองและคิดด้วยกัน ข้อผิดพลาดจะน้อย ความเข้าใจจะดีขึ้น ข้อสำคัญคือ อย่าโทษกัน ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีใครอยากให้คนไข้ทุกข์ทรมาน
5.ถ้าหาทางออกไม่ได้ ลองปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือในยุคปัจจุบัน สามารถปรึกษาทีมรักษาประคับประคองที่มีในทุกโรงพยาบาลได้
6.อย่าให้เรื่องการจัดการหลังตาย มาเป็นข้อถกเถียงหรือเงื่อนไขที่จะมาจัดการผู้ป่วยในระยะสุดท้าย อะไรที่จะจัดการหลังตาย ให้เก็บไปจัดการเมื่อถึงเวลาจริง ไม่อย่างนั้นจะสับสนและเกิดข้อพิพาทได้
7.ยอมรับความจริงที่เกิด ตัดคำว่า “ถ้ารู้แบบนี้” ออกไป เพราะไม่มีใครรู้อนาคต และไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ทางการแพทย์
ก็น่าจะทำให้เราจัดการตัวเอง จัดการเครือญาติ และจัดการความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้อย่างราบรื่นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น