29 ธันวาคม 2566

ไอกรน .. เรื่องราวในข่าว จะป้องกันได้ไหม

 ไอกรน .. เรื่องราวในข่าว จะป้องกันได้ไหม

ช่วงหนึ่งเดือนมานี้ข่าวลงบ่อยมากเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไอกรนที่เพิ่มขึ้น ต้องบอกว่าเราพบอุบัติการณ์ทุกปี มีการระบาดทุก 5-6 ปี ระบาดแต่ละทีก็ตื่นตัวครั้งหนึ่ง
โรคไอกรน รวมทั้งคอตีบ พบน้อยในช่วงวัยรุ่นถึงกลางคน แต่จะมากขึ้นในวัยสูงอายุเพราะระดับภูมิคุ้มกันลดระดับลง การรักษาทำได้ไม่ยาก ยาพื้นฐานหรือมีแอนติบอดีใช้ แต่วินิจฉัยไม่ง่าย เพราะอาการแยกจากโรคอื่นยาก ชุดตรวจแยกโรคแบบเร็วยังไม่พัฒนา
การป้องกันจึงดูคุ้มค่าและง่าย .. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ฯ ร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อ ออกคำแนะนำการรับวัคซีนมานานแล้ว แต่ว่ามีคนรับการป้องกันน้อยมาก เพราะว่าไม่อยู่ในกระแสความสนใจ และวัคซีนนี้ "ต้องจ่าย"
คำแนะนำกล่าวว่า ตั้งแต่อายุ 18 ปี ให้รับวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก (dT) ทุกสิบปี แนะนำในปีที่ลงท้ายอายุเลขจำนวนสิบ เช่น 20-30-40… และในจำนวนที่ฉีดนี้ ควรมีวัคซีน คอตีบ-ไอกรนเชื้อตาย-บาดทะยัก (Tdap) อย่างน้อยหนึ่งเข็ม
ในกรณีมีแผลหรือมีความจำเป็นต้องฉีดบาดทะยัก tetenus toxoid สามารถใช้ dT แทนได้ และสามารถใช้ Tdap ได้เลย (เราต้องการหนึ่งเข็มหนึ่งครั้งในช่วงระยะการฉีดทุก 10 ปีตามแนวทางนี้)
อีกกรณีที่จะได้รับวัคซีนคือหญิงตั้งครรภ์ ก็ให้นับตั้งแต่ฉีดครบช่วงตั้งครรภ์ต่อไปได้ และเลือกใช้ Tdap ในช่วงตั้งครรภ์ 20-32 สัปดาห์ เป็นหนึ่งใน Tdap ที่เราจะต้องฉีดหนึ่งครั้งตามโปรแกรมเดิม ก็ได้เช่นกัน
ราคา tetanus toxoid ถูกที่สุด และ Tdap แพงที่สุด (ไม่เกินสองพันละมัง ผมฉีดมาห้าหกปีก่อน) แต่ก็คุ้มนะ ลองเป็นตัวเลือกในการรับวัคซีนให้พิจารณาครับ

28 ธันวาคม 2566

New Year Resolution 2024

 New Year Resolution 2024

ผมเขียนทุกปีครับ หลายข้อทำได้ หลายข้อทำอยู่และทำต่อ หลายข้อทำไม่ได้ ก็เอามาปรับปรุงในปีใหม่ ๆ ปีกำลังจะผ่านไปผมทำได้ 8 ข้อ ข้อที่ภูมิใจมากคือ จะไม่โกรธใครและสิ่งใดเกิน 1 วัน ทำให้คุณภาพชีวิตจิตใจดีขึ้น มองโลกในแง่ดีและใจเย็น
ปีนี้มาชวนทุกคนเขียนอีกครับ มันไม่จำเป็นต้องเป็นข้อที่อลังการ หรือยากมากจึงจะภูมิใจ เราตั้งใจทำในสิ่งเล็ก ๆ แต่ทำหลายอย่าง สม่ำเสมอ มันก็สร้างความยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
1.ท้าทายตัวเอง ในการออกกำลังกายมากขึ้น … ทุกวันนี้ผมใช้เกมออกกำลังกายครับ มันทำให้เราสนุกและไม่เบื่อ เนื่องจากในเกมมีการเก็บข้อมูลให้ท้าทายตัวเองได้ ปีนี้จะเพิ่มความท้าทายและให้เราออกกำลังกายมากขึ้น เล่นหมดเลยครับ ringfit, finess boxing, let's get fit, just dance (เต้นด้วยนะจ๊ะเนี่ย)
2.จะไม่ขอถุงพลาสติกเวลาซื้อของ … ก่อนหน้านั้นทำได้ แต่ปีนี้ใช้ถุงพลาสติกเยอะ คิดว่าไม่ได้แล้ว อยากลดขยะ ลดสิ่งไม่จำเป็น ปีนี้จะไม่ใช้ถุงพลาสติกเพิ่มอีกเลย เอาที่มีอยู่มาใช้ซ้ำ ไม่เอาเพิ่ม ไม่ขอเพิ่ม
3.ปีนี้จะศึกษาลงลึกเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน … แต่ละปี ผมจะมีหัวข้อวิจัยเชิงลึก ทำเป็นงานอดิเรก ที่ผ่านมาเช่น สงครามนโปเลียน ปฏิวัติรัสเซีย การแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ เป็นการผ่อนคลายความเครียด ฝึกทักษะภาษา การค้นข้อมูล การเปรียบเทียบข้อมูล ทำให้เราเฉียบขึ้น
4.อ่านวรรณคดีไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคำกลอนต่าง ๆ เช่น บทละคร โคลง กาพย์ … ตั้งเป้าไว้สามเรื่องครับ โหลดมากองแล้วเรื่องนึงคือ พระอภัยมณี
5.ทำอาหารกินเองบ้าง มื้อง่าย ๆ … ทักษะการทำอาหารของผมใกล้เคียงเด็กห้าขวบ แค่ใส่เตาอบไมโครเวฟแล้วกด หรือเทนมใส่ซีเรียล แต่ตอนนี้จะเริ่มแล้ว ไปเจอตำราอาหารแบบง่ายมา ปีนี้ว่าจะเริ่มทำ สลัดอกไก่, เมนูปลานึ่ง, ซุป นอกจากเราจะจัดวัตถุดิบเองได้ มันน่าจะดีต่อใจด้วย
6.ดูแลผิวของตัวเองมากขึ้น … ปีที่ผ่านมานี้มีปัญหาเยอะ คัน ผิวแตก มือแห้งด้าน ข้อศอกหมา ริ้วรอยเยอะมาก ก็ไม่ได้เอาไปประกวดเวทีไหนครับ คิดว่าถ้าจะเริ่มอะไรใหม่ ๆ ที่ดี ก็เริ่มกับตัวเองนี่แหละ เลือกครีมใช้ สวมถุงเท้ามากขึ้น
7.คิดถึงเรื่องบริจาคมากขึ้น … ทั้งของที่เราไม่ใช้แต่ยังให้คนอื่นได้ ทรัพย์สินที่เราพอแบ่งได้แบ่งบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ บ้าง ปันหนังสืออ่านแล้ว ของใช้ที่ยังดี เสื้อผ้าที่ยังดี จะจัดสรรบริจาคตามที่ต่าง ๆ ผมเชื่อเรื่องการแบ่งปันนะ และปีนี้ตั้งใจจะทำ
แค่นี้แหละครับ คิดไม่ไหญ่ ทำไม่ยาก แต่ทำได้ ท้าทายที่จะทำ คุณเองก็ทำได้นะ ลองดูเลยครับ

27 ธันวาคม 2566

loculated parapneumonic effusion

 สิ่งที่จะได้เห็นได้อ่านต่อไปนี้ เป็นศิลปะ ทักษะ อยู่บนพื้นฐานวิชาการ ไม่ได้เป็นจริงทุกกรณีและไม่สามารถเอาไปใช้ได้กับทุกคน ต้องการเล่าให้ฟังในบางมิติการรักษาที่ใช้การตัดสินใจร่วมกันระหว่างหมอกับคนไข้

(ผมไม่คุ้นหูกับคำว่า 'ผู้ให้บริการสาธารณสุข' กับ 'ผู้รับบริการ')
ผู้ป่วยชายอายุประมาณ 40 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง แอคทีฟ สนุกสนาน ไม่มีโรคประจำตัว แต่ดื่มเบียร์วันละ 3-4 ขวดกลมใหญ่ทุกวันมาประมาณ 25 ปี มาตรวจเพราะมีไข้สูงสลับต่ำ เป็น ๆ หาย ๆ มาสองสัปดาห์ เหนื่อย เจ็บอกซ้ายเวลาหายใจเข้าออก ตรวจร่างกายพบเสียงปอดด้านซ้ายเบาลงชัดเจน เคาะทึบ เสียงสะท้อนเบาลง เข้าได้กับน้ำในเยื่อหุ้มปอด เอ็กซเรย์พบน้ำในเยื่อหุ้มปอดซ้ายจริง ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาจาก รพ. แห่งหนึ่งมาแล้ว ได้รับการวินิจฉัยน้ำในเยื่อหุ้มปอด ได้รับคำแนะนำให้เจาะและอาจต้องผ่าตัด จึงเดินทางมาขอความเห็นที่สอง
จากข้อมูล อายุไม่มากมีอาการของปอดอักเสบ ตรวจร่างกายเข้าได้กับน้ำในเยื่อหุ้ม เอ็กซเรย์ภาพซ้ายสุด มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ลักษณะของน้ำ "ลอย" อยู่ตามขอบปอดซึ่งความจริงควรไหลมากองด้านล่าง เป็นลักษณะของ loculated fluid มักจะเกิดในกรณีมีน้ำในเยื่อหุ้มจากการอักเสบ (parapneumonic effusion) มาสักพักแล้ว
เรื่องราวต่อมาก็ทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะน้ำไปตรวจ ให้ยาฆ่าเชื้อ ผลการเจาะน้ำก็ออกมาว่าเป็นการอักเสบต่อเนื่องจากปอดอักเสบนี่แหละ ค่าตรวจใกล้เคียงจะเป็นหนอง (empyema thoracis) ซึ่งในกรณีนี้ คำแนะนำว่าควรจะนำน้ำเยื่อหุ้มปอดออกมา จะใส่ท่อระบาย จะผ่าตัด ก็แล้วแต่สถานการณ์
ผู้ป่วยต้องการใส่ท่อระบาย (pigtail catheter) และไม่ต้องการผ่าตัด … คิดถึงในใจคนไข้ทุกคน ก็คงยังไม่อยากทำหัตถการที่มีการรุกล้ำ คนไข้และญาติคนนี้ก็เช่นกัน แต่คุณหมอ (ฉันเอง) อยากจะให้เอาออกโดยการผ่าตัดหรือใส่ท่อระบาย … เมื่อความต้องการไม่ตรงกันแบบนี้จะทำอย่างไร
ผมต่อรอง…ที่ไม่ใช่ "รองกอง"
ผู้ป่วยยอมให้ผมเจาะระบายน้ำออกได้ แต่ไม่ผ่าไม่ใส่ท่อระบาย ถ้าผมไม่เจาะ (มากกว่าหนึ่งครั้ง) โรคก็อาจจะแย่ลง แล้วสุดท้ายจะเป็นหนอง อาจจติดเชื้อรุนแรงแล้วก็ต้องผ่าตัดในสภาพที่หายยาก เราเลยเลือกหนทางเจาะออกเท่าที่ได้ ให้ยาฆ่าเชื้อ ทำกายภาพบำบัดปอด แล้วติดตามผลใกล้ชิด ถ้ามันจำเป็นเมื่อไร ก็จะส่งผ่าตัด … การเจรจาต่อรองออกมาได้ผลแบบนี้ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดแต่ก็ไม่แย่ที่สุด
อย่าลืมบันทึกในเวชระเบียนด้วย ว่าทำแบบนี้เนื่องจากอะไร ลงวันที่กำกับและลงชื่อด้วยนะครับ
หลังจากนอนโรงพยาบาลอยู่สิบวัน อาการไข้ลดลงเจ็บอกลดลง เจาะไปสามครั้ง ไม่มีผลแทรกซ้อน ค่าตรวจน้ำเยื่อหุ้มปอดไม่เปลี่ยนแปลง และไม่เป็นหนอง เราตกลงว่ากินยาต่อและต้องมาติดตามผล
สองสัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล นัดมาติดตามอาการ อาการดีขึ้นมาก เจ็บอกลดลง ไม่มีไข้เลย ส่งตรวจเอ็กซเรย์พบว่าน้ำลดลง ดังภาพกลาง ทำอัลตร้าซาวนด์พบน้ำเล็กน้อย ตัดสินใจไม่เจาะและติดตามอาการ ทำกายภาพทรวงอกต่อไป
หกสัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล ไม่มีอาการผิดปกติ ตรวจร่างกายปกติ เอ็กซเรย์ซ้ำแล้วไม่มีน้ำเหลืออยู่ แต่มีการหนาตัวของเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย และเงาพังผืดที่ปอดซ้าย ดังภาพขวาสุด
ผมอยากบอกว่า ผมไม่ได้ใส่ท่อระบายหรือส่งไปผ่าตัดตามแนวทางการรักษา แต่ว่าอธิบายกับผู้ป่วยว่าแต่ละวิธีการรักษา มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และหากมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการติดตามรักษา เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการที่มี ผลลัพธ์การรักษาออกมาแบบนี้ คนไข้และญาติรับได้
อนาคตข้างหน้า คงไม่มีการรักษาแบบ 'หมอสั่ง' อีกต่อไป แต่คงเป็นการร่วมปรึกษา ร่วมตัดสินใจ โดยคุณหมอเป็นคนให้ข้อมูล เลือกด้วยกัน ติดตามไปด้วยกัน ให้ผู้ป่วยและญาติเป็นทีมการรักษาพร้อมกันกับเรา
อาจจะไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้ คงต้องอาศัยเวลาสักพักกว่าจะเปลี่ยน หมอคงต้องเปลี่ยน คนไข้คงต้องเปลี่ยน ตามยุคสมัย ความก้าวหน้า และเคารพซึ่งกันและกัน น่าจะทำให้คุณภาพการรักษา คุณภาพชีวิต ความเข้าใจ ปัญหาความขัดแย้ง การสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ทุกอย่างน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น
และลิเวอร์พูลก็มาคว้าแชมป์อีกคราในซีซั่นนี้
May be an image of bone and xray
See insights and ads
Boost
All reactions:
265

26 ธันวาคม 2566

ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 การไปมีเพศสัมพันธ์ แบบไม่สวมถุงยางอนามัย แบบ one night stand ไม่ซ้ำคู่ แล้วมาขอรับยาต้านไวรัสหลังมีเพศสัมพันธ์ (post exposure prophylaxis)

ไม่ใช่วิธีการป้องกันเอดส์ที่ถูกต้อง แถมยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ไม่ได้ด้วย
มีสุภาพบุรุษรายหนึ่ง มาติดต่อขอรับยาต้านไวรัส ด้วยพฤติกรรมแบบนี้เป็นครั้งที่สี่ และทุกครั้งจะกังวลว่าติดเชื้อเอชไอวี มีการตรวจเลือดซ้ำหลายครั้งมาก
แค่โชคดีที่ยังไม่ติด แค่ยังไม่รู้ว่าติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นหรือไม่ (แนะนำตรวจอย่างอื่นก็ไม่ตรวจ)
ครั้งต่อไป โชคอาจไม่เข้าข้าง
ดังนั้น สวมใส่เถิดนะ ใส่ไม่เป็นก็ฝึก คู่นอนใส่ไม่เป็นก็ใส่ให้เขา ถ้าไม่ใส่ก็อย่าเลย

25 ธันวาคม 2566

christmas disease

 จากโจทย์ที่ให้วินิจฉัยโรค เมื่อเช้า

1. โพสต์เรื่องซานต้า วันคริสตมาส มันต้องเป็นโรคเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้
2. ใส่สีขาวออกจากบ้าน ไปทำกิจกรรมแจกของขวัญ ซึ่งไม่รุนแรง แต่กลับมีเลือดออกเต็มชุด เรียกว่า แรงกระแทกนิดเดียว ก็เลือดออก
3.เลือดออกขนาดย้อมสีชุดได้ แสดงว่า ออกมาก หยุดยาก โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก ที่เกี่ยวกับซานต้า
4.มันไม่มีหรอก ที่เกี่ยวกับซานต้า แต่เกี่ยวกับคริสตมาสเฟร้ย เลือดออกง่าย + คริสตมาส ก็คือ Christmas disease ...ง่ายแบบนี้เลยรึ
5.christmas disease ตั้งชื่อตามผู้ป่วย Stephen Christmas ผู้ป่วยที่ได้รับการศึกษาและตีพิมพ์โรคนี้รายแรก คือ โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลีย B
6. เกิดขาดการขาดแฟกเตอร์ 9 จากความผิดปกติบนยีน ส่วนฮีโมฟิเลีย A เกิดจากขาดแฟกเตอร์ 8
7. วารสาร BMJ ตีพิมพ์โรคนี้ครั้งแรก ในวารสารที่ออกในวันคริสตมาส (อันนี้ BMJ จงใจแน่ ๆ)
8. ปัจจุบัน เราสามารถรักษาฮีโมฟิเลีย บี โดยการตัดต่อยีนได้เรียบร้อย ผลงานแพทย์นักวิจัยไทย ส่วนใครไม่ได้ตัดต่อก็ให้สารประกอบเลือด FFP เวลาเลือดออกต่อไป
9. อากาศหนาว คืนนี้ถ้าไม่มีใครกอด ก็ซื้อไม้เกาหลังมาเกาเองไปก่อนนะ
10.เมอรี่คริสตมาส แอนด์ แฮปปี้นิวเยียร์
May be an image of 2 people and text that says 'ก่อนไปแจกของ ไป ก่อน กของ กลับ มาถึง บ้าน'
See insights and ads
Boost
All reactions:
107

24 ธันวาคม 2566

จัดกระเป๋า .. day pack

 จัดกระเป๋า .. day pack

เมื่อชีวิตต้องเดินทาง การจัดกระเป๋าถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่ละคนมีไอเดียต่างกัน วันนี้ผมขอแชร์บ้าง ว่าในการท่องเที่ยวหนึ่งวันผมเตรียมอะไรในกระเป๋า
1.กระเป๋าสะพาย ผมเลือกใบกลาง สะพายได้ถือได้ ส่วนมากจะสะพายด้านหน้า กันโจร จึงเลือกใบไม่ใหญ่และมีซิปหยิบของด้านในได้ง่าย ใบนี้เป็น anello ลายพรางสวยมาก ลุยมาหลายประเทศแล้ว
2.โทรศัพท์ ผมเลือกโทรศัพท์ 5G เพื่อใส่ซิมได้หลายแบบหลายประเทศ ในนี้บรรจุ google maps, google translate, แอปเดินทางของประเทศนั้น ส่วนมากผมจะไปซื้อซิมปลายทางครับ โดยเฉพาะซิมท่องเที่ยว (อย่าลืมเข็มจิ้มไปด้วย)
3.หูฟัง ปกติผมจะใช้หูฟังแบบมีสาย ไม่ต้องชาร์จไฟ เล็กดีพกง่าย ผมใช้หูฟังเกมมิ่ง JBL quantum 50 มีไมค์ สายถัก เสียงโอเค ปิดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีพอควร
4.ไฟอ่านหนังสือแบบพกพา LED สว่างมาก ใช้เป็นไฟฉายได้ด้วย มีที่หนีบติดหนังสือ แต่ชาร์จไมโครยูเอสบีนะครับ อันนี้ของ moleskine ราคาถูกมาก
5.กระบอกน้ำ ราคาน้ำดื่มต่างประเทศสูงมาก ผมมักกรอกน้ำจุดที่ฟรีเก็บไว้ดื่มครับ เลือกขวดเล็กเหน็บกระเป๋าได้ เก็บอุณหภูมิได้พอควร
6.เครื่องฟังเพลง คล้าย ๆ เครื่องเล่น MP3 ครับ แต่อันนี้เป็นของ FIiO ซื้อมาจากร้านมั่นคง ซื้อมานานแล้ว ฟังเพลง hi-res ได้ ใส่การ์ดได้ ไม่ฟังจากโทรศัพท์เพราะเปลืองแบต ผมชอบฟังเวลาปล่อยใจเดินทาง มีดนตรีแจ๊ซ เครื่องสายไทย และไฟล์เสียงวิชาการ
7.kindle อันนี้ขาดไม่ได้ เครื่องนี้เป็น kindle basic 2022 จอหกนิ้ว เบามาก 16gB สั่งจาก amazon international มีหนังสือเล่มมากกว่า 160 เล่ม ชาร์จทีอยู่เป็นสัปดาห์ ติดมือไปทุกที่ครับเหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่้เลย ใส่ปกผ้าสวยมาก
8.แว่นและกล่องเก็บ ผมใส่แว่นสองอันสลับกัน สั้นหนึ่งอัน ยาวหนึ่งอัน การมีกล่องจึงสำคัญ เลือกที่แข็งแรง ขนาดพอดี ใส่กระเป๋าได้ไม่เปลืองที่ อันนี้ของร้าน Muji มีผ้าเช็ดแว่นด้วย
9.อะแดปเตอร์ สายชาร์จ และ USB go เป็น international adaptor ใช้ได้ทั่วไป และติดหัวชาร์จแบบ power delivery ชาร์จเร็วได้ทุกอุปกรณ์ สายชาร์จแบบหลายหัว (ผมขี้เกียจพกหลายเส้น) และมี USB แบบเสียบ type C ไว้ถ่ายโอนข้อมูล และมีหนังอยู่สองเรื่อง กันเบื่อ ทั้งหมดนี้มาจากร้าน B2S พร้อมถุงผ้าไว้ด้วยกัน จัดระเบียบดี
10.หนังสือที่ยังไม่อ่าน หนึ่งเล่ม เลือกหนังสือเนื้อหาหนัก จะต้องอ่านพลิกไปมา คิดไปอ่านไป จะได้ไม่เบื่อ เล่มเดียวพอ ประมาณว่าหนึ่งทริป จบแบบรู้เรื่องสมบูรณ์ เรื่องนี้เล่มนี้ กดมาจากช้อปปี้ ร้านของสนพ.ยิปซีเองเลย
11. nintendo switch แก้เบื่อได้ดีมาก ไม่ได้เล่นตลอดเวลา เอาไว้เล่นรอคิวสั้น ๆ รอขึ้นเครื่อง ประมาณนี้ มีเกมฆ่าเวลาติดเครื่องเสมอคือ fifa 23, harvestella และ witcher 3 wildhunt เกมซื้อมานานแล้วจาก Tinz shop
12.ยา ไม่พกไปมากครับ เอาแค่พอช่วยให้เดินทางสบาย อย่าลืมทำประกันการเดินทางเสมอนะครับ อุ่นใจมากและคุ้มมาก ผมพก paracetamol, loratadine, atorvastatin อันนี้ยาโรคประจำ และ พลาสเตอร์ปิดแผล แค่นี้
13.ปากกา ของจำเป็นของผมนะครับ เพราะชอบขีดเขียนมาก บันทึกสารพัด ผมพก lamy safari ด้ามประจำ หมึกดำและหมึกน้ำเงิน มีหมึกหลอดสำรองไว้เขียนอย่างละหลอด และปากกาลูกลื่นสามสีหนึ่งด้าม พกอันเดียว ซื้อจาก BE trend เดอะมอลล์
14.กล้อง ผมชอบใช้กล้องคอมแพกต์เล็ก ๆ ครับ ไม่เปลืองแบตมือถือ และลูกเล่นคุณภาพดี ตัวนี้ใช้มาหลายปี ยังใช้ได้ดี ซื้อแค่แบตใหม่ canon powershot a2200 เป็นกล้องคู่ใจเลยล่ะ จาก big camera เมื่อนานมาแล้ว
15.สมุดบันทึกเล่มเล็กของ moleskine ผมใช้สมุดอยู่ยี่ห้อเดียว เขียนดี ไม่เลอะ กระดาษรีไซเคิล พกเล่มเล็กมีสายรัด ข้างในมีแผนการเดินทาง ตารางเวลา แผนการขึ้นรถ เขียนแผนผัง ระยะทาง เบอร์โทร หมายเลขเอกสารสำคัญ สารพัด และไว้จดบันทึกการเดินทางมาเล่าให้คุณ ๆ ฟัง เดี๋ยวนี้สั่งจากเว็บ moleskine สะดวกดี ที่สำคัญตามช้อปในสนามบินมีเกือบทุกที่
16.อันนี้สำคัญ พกตลอด หนังสือเดินทาง มักจะแยกเก็บใส่กระเป๋าอกเสื้อตัวใน ถ่ายเอกสารแยกเก็บหลายที่ ผมจะใส่ซองพลาสติกกันน้ำไว้เสมอ เพราะมันสำคัญมาก และเหน็บเงินไว้ยี่สิบดอลล่าร์ เผื่อฉุกเฉิน

22 ธันวาคม 2566

เรื่องเล่า : ตามองเห็นสิ่งที่ค้นหา ลิ้นหัวใจรั่ว

เรื่องเล่า : ตามองเห็นสิ่งที่ค้นหา
มีผู้ป่วยรายหนึ่งติดต่อนัดพบจากต่างจังหวัดห่างไกล คุณสุภาพบุรุษท่านนี้ต้องการมาปรึกษาเรื่องความดันโลหิตสูง เบื้องต้นเล่าว่า เขาได้รับการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงมา 6 ปี ใช้ยารักษาควบคุมความดันมาตลอดมิได้ขาด ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด แต่ทำไมเขาเริ่มเหนื่อยมากขึ้นทั้งที่ค่าความดันก็ควบคุมได้ดี
หมอปุริม : มีได้หลายสาเหตุ และต้องถามประวัติเพิ่มร่วมกับตรวจร่างกายหลายอย่าง ถ้าเป็นไปได้ขอให้นำสมุดประจำตัวผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและยามาด้วย
ผู้ป่วย : ค่ารักษาแพงไหม และนัดบ่อยไหม
หมอปุริม : ต้องมาตรวจกันก่อนครับ
ผมเข้าใจถึงข้อจำกัดของผู้ป่วยและความทุกข์ใจอึดอัดใจของเขาทันที และคิดว่าเขาคงไม่ใช่แค่อยากถามความเห็นที่สอง แต่ทบทวนและคิดถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนถ้าต้องเดินทางมา เทียบกับการเจ็บป่วยของเขา
สุดท้ายผู้ป่วยก็มา เป็นสุภาพบุรุษสมส่วน สูง สวมชุดลำลองถือกระเป๋าย่ามหนึ่งใบ ผู้ป่วยบอกว่านั่งรถโดยสารมาคนเดียว และถ้าเป็นไปได้อยากกลับให้ทันรถเที่ยวเย็น ไม่อยากทิ้งงาน ทิ้งรายได้
อาการเหนื่อยของเขาเป็นเวลาออกแรง ทำงานได้ลดลง ความทนทานลดลง ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ไม่มีขาบวมหรือนอนราบลำบาก ผู้ป่วยใช้ยา hydrochlorothiazide 25 มิลลิกรัมและ amlodipine ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน ตรวจดูสมุดบันทึกประจำตัวก็เริ่มเอะใจ
ค่าความดัน 140/60, 130/50, 120/50 ค่าความดัน pulse pressure กว้างพอควร (เอาตัวบนลบตัวล่าง) ยาไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน ผมถามว่าได้บอกที่รพ.ไหมว่าเหนื่อย ได้คำตอบว่า ก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงนั่นแหละ ผู้ป่วยไม่สูบบุหรี่ เลิกเหล้า (ที่กินไม่มาก) ตั้งแต่ทราบว่าป่วยโรคความดัน ไม่กินเค็ม ออกกำลังกาย
แล้วก็เริ่มตรวจร่างกาย สิ่งที่มองหาคือความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดเพราะ pulse pressure กว้างมาก พอผู้ป่วยนอนลงก็เริ่มมองที่หลอดเลือดและทรวงอก เจอบางอย่างที่เริ่มเข้าเค้าเลยถามคนไข้ หลอดเลือดที่คอเต้นตุบ ๆ ให้เห็นแบบนี้มานานหรือยัง
ผู้ปวย : สังเกตประมาณ 3 ปีแล้ว ไม่ได้ใส่ใจอะไร และไม่เจ็บปวดด้วย
หมอปุริม : แล้วได้แจ้งทาง รพ ไหมครับ
ผู้ป่วย : แจ้งแล้วครับ ทาง รพ. บอกว่าเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง
คลำชีพจรแรงมาก แล้ววัดความดันโลหิตทั้งแขนซ้ายและขวา ค่าความดัน 130/50 ถามผู้ป่วยว่าค่าความดันโลหิตตัวล่างค่อนข้างต่ำ ทาง รพ. ได้แจ้งอะไรบ้างไหม
ผู้ป่วย : ก็มีคนพูดถึงนะครับ แต่ว่าเขาก็บอกว่าเกิดจากความดันสูง
หมอปุริม : แล้วทาง รพ วัดความดันอย่างไรครับ และมีการวัดโดยใช้มือและหูฟังแบบนี้ไหม
ผู้ป่วย : มีบ้างครับ และก็บอกว่าชีพจรแรงจากความดันโลหิตสูง
สิ่งที่ผมพบ คือ อาการเหนื่อย ชีพจรแรงจนเห็นหลอดเลือดที่คอเต้นตุบ ๆ ชีพจรที่แขนขาก็แรง ความดันโลหิต pulse pressure กว้างจริง ๆ ไอ้เจ้าความดัน pulse pressure ที่กว้างนั้นมีหลายโรคครับ แต่พอเหลือบเห็น หลอดเลือดที่คอเต้นได้ และชีพจรแรง สิ่งที่คิดไว้และน่าจะตรวจเพิ่ม เพราะอาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อย คือ ลิ้นหัวใจ aortic รั่ว
ผมตรวจชีพจรที่ขา และได้ยินเสียง duroziez เสียง pistal shot ตรวจชีพจรพบ water-hammer pulse ทั้งหมดนี้คืออาการแสดงของลิ้นหัวใจ เอออร์ติก รั่วแบบเรื้อรัง อาจเป็นอาการเหนื่อยจากหัวใจที่เริ่มแย่ลงจากลิ้นหัวใจเรื้อรัง
และก็ตรวจหัวใจ พบว่าหัวใจดันต้านมือขึ้นมา (heaving) เสียงหัวใจดูเท่ากันและปกติ แต่ได้ยินเสียงลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว (diastolic blowing murmur) ที่ชัดมาก เรียกว่า ผู้ป่วยรายนี่สามารถนำไปสอบรายยาวของนักเรียนแพทย์ได้สบาย
คำถามนี้ผมถามแล้วได้คำตอบที่เป็นที่มาของเรื่องนี้ คือ แล้วเสียงหัวใจที่ผิดปกตินี้ ทาง รพ. เขาทำอะไรต่อไหมครับ
ผู้ป่วย “ไม่มีใครกดและฟังหัวใจเลยครับ”
การซักประวัติและการตรวจร่างกายแบบนี้ สามารถทำได้ทุกที่ ใช้อุปกรณ์ไม่มาก และแทบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ และการที่ผู้ป่วยมีโรคใดโรคหนึ่ง ก็อย่าคิดว่าทุกอาการหรืออาการแสดงจะเกิดจากโรคนั้นหรือการรักษานั้นเสมอไป
สองตา สองมือ และหนึ่งความคิด สามารถแก้ไขหลายอย่างได้ดีครับ และเรามักจะมองเห็นสิ่งที่เราหา มักจะละเลยสิ่งสำคัญที่เราไม่สนใจ
……..
ผลสุดท้าย ผู้ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วรุนแรง การบีบตัวหัวใจลดลง มีลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วเล็กน้อย กำลังสืบค้นและรักษาต่อเนื่องที่ รร.แพทย์แห่งหนึ่งในประเทศนี้

วัคซีนป้องกันงูสวัด ตัวใหม่ ตัวเก่า ฉีดดีไม่ฉีดดี

 วัคซีนป้องกันงูสวัด ตัวใหม่ ตัวเก่า ฉีดดีไม่ฉีดดี

เข้าสู่เนื้อหาเข้มข้นนิดนึง แต่ยังยืนยันว่าอ่านง่ายสำหรับทุกคนเช่นเคยนะครับ เนื้อหาทั้งหมดมาจากวารสารเปิดเผย วารสารจ่ายตังค์ แนวทางเวชปฏิบัติของหลายสมาคม และเอกสารที่ผมขอจากบริษัทผู้ผลิตจำหน่าย ผมจะอธิบายโดยไม่โน้มเอียง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดด้วยครับ
😀ทำไมต้องฉีดวัคซีนงูสวัด
แม้ว่างูสวัดจะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็อาจเกิดความรุนแรงในผู้สูงวัยได้ เป้าหมายหลักเพื่อลดความรุนแรงคือผู้สูงวัยนั่นเอง ตัวเลขจากการศึกษาทั้งหมดอยู่ที่เกิน 50 ปี ก็เลยแนะนำในคนอายุมากกว่า 50 อีกอย่างหนึ่งคือเป็นการลดอาการเจ็บปวดเส้นประสาทหลังจากงูสวัด ที่ทรมานมากและช่วยลดได้จากการฉีดวัคซีน
😀วัคซีนชนิดเดิม เป็นชนิดเชื้อตัวเป็นมาทำให้อ่อนแรง ฉีดหนึ่งครั้ง ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ด้วยความที่เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ห้ามใช้ในกลุ่มผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี กินยากดภูมิหรือปลูกถ่ายอวัยวะ
ประสิทธิภาพลดงูสวัดรุนแรงอยู่ที่ 51% และลดปวดเส้นประสาทที่ 67% ซึ่งจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพเหลือประมาณ 35% ในคนที่อายุมากกว่า 70 (ประมาณ 20 ปีหลังฉีด)
😀วัคซีนตัวใหม่ เป็นวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์ เอาแอนติเจนเชื้องูสวัด มารวมกับ anti-glycoprotein E และ AS01b คือว่าอะไรที่เอามารวมเนี่ย มันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างภูมิให้แข็งแรงและอยู่นานขึ้น รวมทั้งมันไม่ใช่ตัวเป็นทั้งตัว การบังคับสร้างภูมิมันเลยเจาะจงขึ้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากเชื้อเป็นลดลงโดยเฉพาะกลุ่มที่ภูมิไม่ดี อันเป็นข้อห้ามของวัคซีนเดิม
จากการศึกษา ZOE-50 และ ZOE-70 อันเป็นการศึกษาหลักที่อนุมัติใช้วัคซีน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันยังสูงอยู่แม้อายุผู้ป่วยมากขึ้น แม้ถึง 70 ปี (ลดลงกว่าเดิมนะ แต่ลดไม่มาก) ประสิทธิภาพการลดงูสวัดอยู่ที่ 97% และลดลงเมื่ออายุมากขึ้นที่ระดับ 90 % เมื่อายุเกิน 70 ปี รวมทั้งการลดปวดเส้นประสาทก็ทำได้สูงระดับ % และลดลงน้อยมากแม้อายุผู้ป่วยมากขึ้น
😀เรียกว่า มาปิด painpoint เรื่องประสิทธิภาพที่ลดลงค่อนข้างมากเมื่ออายุมากขึ้นของวัคซีนเดิม เพราะเราอายุยาวนานขึ้น
😀อีกประการในเรื่องการใช้วัคซีนในกลุ่มคนที่มีข้อห้ามฉีดวัคซีนตัวเป็นอันเดิม ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ดี ปลูกถ่ายอวัยวะหรือเสี่ยงการเกิดโรครุนแรง ไม่ว่าจะอายุมากกว่า 50 หรือน้อยกว่า 50 (ตามข้อบ่งชี้และการศึกษาคือ 18) สามารถใช้วัคซีนใหม่นี้ได้ดี ภูมิคุ้มกันขึ้นดีและผลแทรกซ้อนไม่ต่างจากยาหลอก แต่ว่าการศึกษาในกลุ่มนี้เป็นการศึกษาขนาดเล็ก และระยะเวลาการติดตามสั้น เช่น มะเร็ง การปลูกถ่ายไขกระดูก เอชไอวี
😀แม้ทาง CDC ของอเมริกาจะไม่ใช้วัคซีนตัวเป็นแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงในทั่วโลก กำแพงเรื่องราคา และการต้องฉีดสองครั้ง ทำให้วัคซีนรีคอมบิแนนท์ชนิดใหม่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงได้ 100% วัคซีนเชื้อเป็นของเดิมจึงยังใช้ได้ดี และยังน่าใช้เช่นกัน
😀ในกรณีได้วัคซีนเชื้อเป็นมาก่อน ให้เว้นระยะอย่างน้อย 5 ปี จึงฉีดวัคซีนรีคอมบิแนนท์ชนิดใหม่นี้ได้
😀วัคซีนทั้งสองชนิดห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถฉีดพร้อมวัคซีนอื่นได้ แต่ให้ฉีดคนละข้าง และควรเว้นระยะหลังป่วยงูสวัดประมาณ 2-3 เดือน
สรุปว่าหากอายุเกิน 50 ควรฉีดป้องกันตัวไหนก็ได้ แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 50 และมีความเสี่ยง ให้ใช้วัคซีนรีคอมบิแนนน์ หรืออายุเกินห้าสิบแต่มีข้อห้ามวัคซีนเชื้อเป็น ก็ใช้วัคซีนรีคอมบิแนนท์ ส่วนยี่ห้อวัคซีน สถานที่ฉีด และราคา ต้องไปสืบหากันเองครับ

19 ธันวาคม 2566

สู้ดิวะ

 สู้ดิวะ ...

แม้คุณหมอกฤตไท ได้เดินทางไปที่แสนไกลแล้ว แต่เรื่องราวของคุณหมอกฤตไท ยังสอนพวกเราได้ไม่รู้จบ
บันทึกการเจ็บป่วยและมุมคิดของหมอกฤตไท ออกมาสมบูรณ์ในแง่ ผู้ป่วย แง่หมอ และแง่หมอที่ป่วย เรียกว่า ดึงความรู้สึกจากการต้องรับการรักษา อารมณ์แห่งความสิ้นหวัง และแง่คิดในการอยู่กับโรค ทำออกมาได้ดีมาก
ผมไม่รู้จักคุณหมอเป็นการส่วนตัว ได้รับรู้เรื่องราวเหมือนทุกคน และซื้อเล่มนี้มาอ่าน รู้สึกว่าคุณหมอผูกเรื่อง เล่าเรื่องได้ดี มีพล็อตทวิตส์ จบด้วยมุมมองที่เฉียบคม
แต่มันไม่ได้มาจากจินตนาการ มันคือเรื่องจริง มันจึง 'ลึก' ในอารมณ์ และ 'คม' ในความคิด
ผมว่าทุกคนน่าอ่านครับ และคุณหมอทุกคนควรอ่าน จะได้เข้าใจชีวิตและผู้คน มากขึ้น
หนังสือของสนพ KOOB เล่มละ 195 บาท ตามร้านสาขาใหญ่ ๆ น่าจะหมด หาซื้อได้ตามร้านอิสระและร้านออนไลน์ครับ
สิ้นปีนี้ถ้าอยากพัฒนาตัวเองรับปีใหม่
ก็เล่มนี้เลยครับ
May be an image of text
See insights and ads
Boost post
All reactions:
152