04 พฤศจิกายน 2563

Pickelhaube Spike-Helmet-Sign

 เรามาย้อนอดีตกันอีกครั้ง กับทัวร์ข้ามเวลาเพื่อค้นหาปริศนา หมวกแห่งความตาย ไปชงกาแฟอุ่น ๆ มานั่งจิบไปอ่านไปได้เลย

เอาล่ะ รัดเข็มขัดให้ดีผมจะพาพวกท่านข้ามเวลากลับไปช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผ่านยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและล่าอาณานิคม ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวมตัวกันแบบหลวม ๆ ผลัดกันเป็นใหญ่ตามอำนาจทางการทหาร เราจะพาท่านไปที่ราชอาณาจักร ปรัสเซีย ดินแดนต้นกำเนิดประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาอาวุธต่าง ๆ ที่ใช้รบกันยังมีความรุนแรงต่ำ ปืนที่ใช้ไม่ได้มีอำนาจทำลายล้างมากนัก ยังมีการใช้ดาบปลายปืน อาวุธทิ่มแทง ความสำเร็จเรื่องการรบมาจากปริมาณทหาร ความเด็ดเดี่ยวของผู้นำ และสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก ก็ส่งผลมาถึงอุปกรณ์ป้องกัน ก็ไม่ได้มีความแข็งแกร่งทนทานมากนัก เพราะหากใช้ชุดเกราะเสื้อเกราะที่แกร่งมาก น้ำหนักของชุดเกราะจะเป็นอุปสรรคในการรบได้ และอุปกรณ์ป้องกันอันหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นคือ หมวกรบ

หมวกรบในอดีตตั้งแต่สมัยสงครามนโปเลียน หมวกทำด้วยหนังสัตว์อัดเรียบหลายชั้นแล้วนำมาขึ้นรูป แต่มันก็ปกป้องได้ไม่มาก แถมยังเปียกน้ำ อับชื้น ขึ้นราอีกด้วย

ที่อาณาจักรปรัสเซียในปี 1843 พระเจ้าไกเซอร์ วิลเฮล์ม ได้พัฒนากองทัพปรัสเซียขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ เป็นที่น่าเกรงขามของแผ่นดินยุโรป เป็นฐานให้เยอรมัน เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้อย่างอาจหาญ หนึ่งในงานปรับปรุงพัฒนากองทัพปรัสเซียให้ทันสมัยคือ การปรับหมวก conical shako ของนโปเลียนจากที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ให้แกร่งมากขึ้นและมีเอกลักษณ์ของชาติปรัสเซีย

ใช้หนังสัตว์และเสริมด้วยโลหะ มีการเคลือบสารกันน้ำ รูปแบบเป็นรูปโค้งคล้ายโดม และตรงปลายยอดของหมวกนั้นจะชี้แหลมขึ้น และมีโลหะเป็นแท่งกรวยตันแหลม ยื่นขึ้นจากยอดหมวก ทำให้หมวกรุ่นพัฒนาแล้วนี้ มีความแข็งแรงและสามารถสะท้อนแรงอาวุธที่เล็งมาที่ศีรษะ รูปแบบกระชับ ไม่หลุดง่าย เรียกหมวกยุคใหม่นี้ว่า Pickelhaube (Prussian military helmet)

ถ้าเทียบกับยุคสมัยนโปเลียน มาจนถึงยุคสงครามไครเมีย หมวกแบบนี้ก็ดูจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ว่าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สงครามในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง คือ การใช้อาวุธที่รุนแรง ทำให้เกิดการตาย บาดแผล และหยุดยั้งฝ่ายตรงข้ามได้อย่างชะงักงัน และอาวุธเหล่านั้นได้พัฒนาจนสามารถเข้ามาอยู่ในมือทหารราบทุกคนได้ นั่นหมายถึง หมวกหนังสัตว์อัดรูปและเสริมโลหะ ไม่สามารถป้องกันศีรษะบรรดาทหารได้อีกต่อไป

หมวกรบก็ได้เปลี่ยนวัสดุไปเป็นโลหะน้ำหนักเบา สามารถป้องกันกระสุนได้พอสมควร ทั้งฝ่านมหาอำนาจกลางและสัมพันธมิตรก็มีเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์อันนี้เช่นกัน ทำให้หมวกรบในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคงจะคล้ายกันไม่หมด แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น..

กองทัพเยอรมัน ยังคงใช้ลักษณะของ pickelhaube มาเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ ตั้งแต่จอมทัพลงมาถึงทหารราบ แต่ปรับให้แข็งแรงขึ้น เบาขึ้น ลดความยาวของปลายหอกยอดหมวกลง เป็นรูปแบบของหมวกอันเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจนของกองทัพเยอรมันในสงครามโลก M1916 stahlhelm ใครเห็นหมวกแบบนี้จะบอกได้ว่านี่คือ บุคลากรของกองทัพเยอรมัน

วาร์ปกลับมาในปี 2011 นายแพทย์ Littmann ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Mayo clinic preceedings ถึงคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบหนึ่งที่พบในผู้ป่วยลิ้นหัวใจติดเชื้อ และมีอาการปวดท้องรุนแรง ลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้ จะมีลักษณะคล้ายหัวใจขาดเลือด ST-elevation ถ้าบรรยายเป็นภาษาทางการแพทย์คือ elevation of isoelectric line preceedings QRS complex, sharp R wave, Convex ST elevation แต่ถ้าจะแปลประโยคนี้ให้ชัดคือ

Spike-Helmet-Sign (SHS) หรือลักษณะคล้ายหมวก Pickelhaube เมื่อมองจากทางด้านข้างนั่นเอง

เมื่อมีการศึกษารวบรวมข้อมูลมากขึ้นก็พบว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวตอบสนองกับภาวะของร่างกายที่มีการกระตุ้นระบบประสาท adrenergic มากเกินไป เมื่อภาวการณ์กระตุ้นนั้นหยุดไป คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็กลับคืนสู่ภาวะปรกติ ในตอนแรกถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคลื่นไฟฟ้าปลอม ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องด้วยซ้ำ และหากไปตรวจโปรตีนที่บ่งชี้การบาดเจ็บเฉียบพลันต่อกล้ามเนื้อหัวใจก็มักจะตรวจไม่พบ

ผู้ป่วยที่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบนี้มักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการรุนแรง มีการกระตุ้นระบบประสาทเพื่อการอยู่รอด adrenergic กระตุ้นรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูง เราจึงอาจพบหมวกแห่งความตายในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เหมือนกับในภาวะสงครามได้

วาร์ปกลับมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เมื่อ 26 ตุลาคม 2020 มีการรายงานพบหมวกแห่งความตายอีกครั้ง ในวารสาร JAMA Internal Medicine ในผู้ป่วยวัยรุ่นที่ถูกแมงป่องต่อย แล้วมาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการหัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตสูงและอาการทางคลินิกของหัวใจวาย เมื่อได้รับการรักษาใน 48 ชั่วโมงพบว่าอาการดีขึ้นและคลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปรกติ และคลื่นไฟฟ้าแรกรับของผู้ป่วยรายนี้ก็ปรากฏ หมวกแห่งความตายปรากฏขึ้นเช่นกัน

เชื่อว่า alpha toxin ในพิษแมงป่องมีสมบัติกระตุ้นการหลั่งสาร catecholamines ในตัวมากมาย ระบบประสาท adrenergic ก็ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง ร่วมกับไปยับยั้งช่องสัญญาณโซเดียม (prolonged repolarization) สามารถทำให้พบลักษณะของ หมวกแห่งความตาย ขึ้นมานั่นเอง

กลับมาถึงยุคปัจจุบันหลังจากไปวนเวียนที่ปรัสเซีย ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสียนาน หมวก Pickelhaube ยังมีใช้อยู่ในเยอรมัน เป็นหมวกเชิงสัญลักษณ์ทางการทหารและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินสวนสนามของทหารที่จะมีการประดับพู่สีสันต่าง ๆ ที่ยอดหมวก ติดกับยอดปลายแหลม โดยเฉพาะทหารที่อยู่บนหลังม้า ไม่ใช่ทหารม้านะครับ ทหารม้าคือทหารที่ขับรถถัง หรือแม้แต่ใช้เป็นเครื่องแบบของตำรวจในประเทศ กับสัญลักษณ์ของชาติเยอรมันที่ยาวนานได้เช่นกัน

สุดท้ายขอขอบคุณผู้ร่วมเดินทางกับทัวร์ประวัติศาสตร์การแพทย์ทุกท่าน ก่อนลุกไปกรุณาตรวจสอบหมอน ผ้าห่มและคนข้าง ๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน ครั้งหน้าหวังว่าจะได้พาท่านไปทัวร์กันอีกนะครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

1 ความคิดเห็น: